ผมได้รับมอบหมายจากโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ บูรณวิทยา ให้นำลูกเสือเนตรนารีสามัญรุ่นใหญ่จำนวน 1 หมู่ ไปเข้าร่วมงานชุมนุมลูกเสือสันติภาพระหว่างวันที่ 26-30 เมษายน 2551 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในนามสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาราชบุรี เขต 1
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2551 ผมได้ไปเข้ารับการอบรมตามโครงการอบรมปฏิบัติการพัฒนาระบบข้อมูลรายงานการจำแนกสถานะสถานศึกษา จังหวัดราชบุรี ณ โรงเรียนดรุณาพณิชยการ อ.เมือง จ.ราชบุรีซึ่งจัดโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาราชบุรี เขต 1 เพื่อเป็นจัดเก็บข้อมูลการจำแนกสถานะสถานศึกษารายโรงเรียน และรายงานด้านยาเสพติดในสถานศึกษาเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
เมื่อวันที่ 18-19 ธันวาคม 2550 ผมได้ไปเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำหลักสูตรและคู่มือ ตามโครงการเสริมสร้างสันติวัฒนธรรมในโรงเรียนและพัฒนาศักยภาพบุคลากรในสถานศึกษา ซึ่งจัดโดยสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ณ โรงแรม เอส ดี เวนิว กรุงเทพฯ มีการแบ่งผู้เข้าร่วมประชุมออกเป็น 4 กลุ่ม ในลักษณะการประชาเสวนา เพื่อการพัฒนาหลักสูตรและคู่มือ สรุปได้ดังนี้ กลุ่มที่ 1 หลักสูตรอบรมสร้างวิทยากร มีการจัดทำหลักสูตรจำนวน 3 หลักสูตร คือ 1. แนวคิดพื้นฐานการจัดการความขัดแย้งในสถานศึกษา 2. นักเจรจาไกล่เกลี่ย 3. วิทยากรการจัดการความขัดแย้งในสถานศึกษากลุ่มที่ 2 หลักสูตรอบรมนักเรียนผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย มีเนื้อหาและวิธีการจัดทำเป็นคู่มือคือ 1. ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความขัดแย้งด้วยสันติวัฒนธรรมในสถานศึกษา 2. ความยุติธรรม 3. หลักการสื่อสาร/การฟัง การพูด เพื่อสร้างสันติวัฒนธรรม 4. ทักษะในการให้คำปรึกษาเบื้องต้น 5. การเจรจาไกล่เกลี่ยโดยมีการดำเนินการตามกระบวนการไกล่เกลี่ยกลุ่มที่ 3 การประเมินติดตามการดำเนินงานของโรงเรียน มีเนื้อหาคือ 1. ประเมินโดยใคร (โดยคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้บริหาร ประธานนักเรียน ผู้แทนครู ผู้แทนนักเรียน กรรมการสถานศึกษา) 2. ประเมินเพื่อใคร (โดยดูสภาพปัจจุบันของโรงเรียน แล้วนำผลการประเมินไปปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาการดำเนินงานของสถานศึกษาให้ดีขึ้น) 3. ประเมินอย่างไร (จากผลสัมฤทธิ์ของโครงการ แล้วกำหนดข้อมูลและนำข้อมูลทั้งหมดมาเพื่อการดำเนินการต่อไป) 4. ประเมินเมื่อใด (ประเมินก่อน-หลังการดำเนินงานจากตัวชี้วัดในการพัฒนาสร้างสันติวัฒนธรรมในโรงเรียน)กลุ่มที่ 4 การพัฒนาสร้างสันติวัฒนธรรมในโรงเรียนโดยใช้การเจรจาไกล่เกลี่ย (School Mediation)มีเนื้อหาคือ 1. ด้านนักเรียนจัดเวทีประชุมเสวนา ให้นักเรียนมีส่วนร่วมวางกฏกติกาและเสนอความต้องการ อบรมแนวคิดพื้นฐานการแก้ปัญหาความขัดแย้ง การเจรจาไกล่เกลี่ยโดยเพื่อน จัดตั้งชมรมตามความต้องการของนักเรียน 2. ด้านครูจัดอบรมแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้ง อบรมเทคนิควิธีการสอนโดยใช้การแก้ปัญหาพื้นฐาน การจัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักการแก้ปัญหาโดยวิธีการจัดการความขัดแย้ง มีการนิเทศติดตามประเมินผลการใช้หลักสูตรการสอนและการจัดการในชั้นเรียน 3. ด้านหลักสูตรจัดทำหลักสูตรการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยบูรณาการในกลุ่มสาระการเรียนรู้จัดทำโครงการกิจกรรมเสริมหลักสูตร ติดตามประเมินผลการใช้หลักสูตร 4. ด้านโรงเรียนมีการสร้างวัฒนธรรมในโรงเรียน โดยการสร้างความตระหนักและแนวคิดพื้นฐานในการจัดการแก้ปัญหาความขัดแย้ง มีกระบวนการตัดสินใจอย่างมีส่วนร่วม การทำงานเป็นทีม พัฒนาครูและผู้เกี่ยวข้องให้มีภาวะผู้นำจัดโครงการให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วม ประสานความร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดนโยบาย วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ การสร้างสันติวัฒนธรรมในสถานศึกษา 5. การสร้างเครือข่าย(ชุมชนผู้ปกครอง องค์กรต่าง ๆ โดยการประชาสัมพันธ์ จัดประชุม จัดทำเอกสารเผยแพร่ ทำการอบรม การสร้างทีมสหวิชาชีพ)