วันอาทิตย์ที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

งานชุมนุมลูกเสือสันติภาพ

ผมได้รับมอบหมายจากโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ บูรณวิทยา ให้นำลูกเสือเนตรนารีสามัญรุ่นใหญ่จำนวน 1 หมู่ ไปเข้าร่วมงานชุมนุมลูกเสือสันติภาพ
ระหว่างวันที่ 26-30 เมษายน 2551 ณ ค่ายลูกเสือ
วชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในนามสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาราชบุรี เขต 1



































วันพฤหัสบดีที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑

อบรมปฏิบัติการพัฒนาระบบข้อมูลรายงานการจำแนกสถานะสถานศึกษา จังหวัดราชบุรี

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2551 ผมได้ไปเข้ารับการอบรมตามโครงการอบรมปฏิบัติการพัฒนาระบบข้อมูลรายงานการจำแนกสถานะสถานศึกษา จังหวัดราชบุรี ณ โรงเรียนดรุณาพณิชยการ อ.เมือง จ.ราชบุรีซึ่งจัดโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาราชบุรี เขต 1 เพื่อเป็นจัดเก็บข้อมูลการจำแนกสถานะสถานศึกษารายโรงเรียน และรายงานด้านยาเสพติดในสถานศึกษาเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์










วันอาทิตย์ที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑

การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำหลักสูตรและคู่มือ

เมื่อวันที่ 18-19 ธันวาคม 2550 ผมได้ไปเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำหลักสูตรและคู่มือ ตามโครงการเสริมสร้างสันติวัฒนธรรมในโรงเรียนและพัฒนาศักยภาพบุคลากรในสถานศึกษา ซึ่งจัดโดยสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ณ โรงแรม เอส ดี เวนิว กรุงเทพฯ มีการแบ่งผู้เข้าร่วมประชุมออกเป็น 4 กลุ่ม ในลักษณะการประชาเสวนา เพื่อการพัฒนาหลักสูตรและคู่มือ สรุปได้ดังนี้
กลุ่มที่ 1 หลักสูตรอบรมสร้างวิทยากร มีการจัดทำหลักสูตรจำนวน 3 หลักสูตร คือ 1. แนวคิดพื้นฐานการจัดการความขัดแย้งในสถานศึกษา 2. นักเจรจาไกล่เกลี่ย 3. วิทยากรการจัดการความขัดแย้งในสถานศึกษา
กลุ่มที่ 2 หลักสูตรอบรมนักเรียนผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย มีเนื้อหาและวิธีการจัดทำเป็นคู่มือคือ 1. ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความขัดแย้งด้วยสันติวัฒนธรรมในสถานศึกษา 2. ความยุติธรรม 3. หลักการสื่อสาร/การฟัง การพูด เพื่อสร้างสันติวัฒนธรรม 4. ทักษะในการให้คำปรึกษาเบื้องต้น 5. การเจรจาไกล่เกลี่ย
โดยมีการดำเนินการตามกระบวนการไกล่เกลี่ย
กลุ่มที่ 3 การประเมินติดตามการดำเนินงานของโรงเรียน มีเนื้อหาคือ 1. ประเมินโดยใคร (โดยคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้บริหาร ประธานนักเรียน ผู้แทนครู ผู้แทนนักเรียน กรรมการสถานศึกษา)
2. ประเมินเพื่อใคร (โดยดูสภาพปัจจุบันของโรงเรียน แล้วนำผลการประเมินไปปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาการดำเนินงานของสถานศึกษาให้ดีขึ้น) 3. ประเมินอย่างไร (จากผลสัมฤทธิ์ของโครงการ แล้วกำหนดข้อมูลและนำข้อมูลทั้งหมดมาเพื่อการดำเนินการต่อไป) 4. ประเมินเมื่อใด (ประเมินก่อน-หลังการดำเนินงานจากตัวชี้วัดในการพัฒนาสร้างสันติวัฒนธรรมในโรงเรียน)
กลุ่มที่ 4 การพัฒนาสร้างสันติวัฒนธรรมในโรงเรียนโดยใช้การเจรจาไกล่เกลี่ย (School Mediation)
มีเนื้อหาคือ 1. ด้านนักเรียนจัดเวทีประชุมเสวนา ให้นักเรียนมีส่วนร่วมวางกฏกติกาและเสนอความต้องการ อบรมแนวคิดพื้นฐานการแก้ปัญหาความขัดแย้ง การเจรจาไกล่เกลี่ยโดยเพื่อน จัดตั้งชมรมตามความต้องการของนักเรียน 2. ด้านครูจัดอบรมแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้ง อบรมเทคนิควิธีการสอนโดยใช้การแก้ปัญหาพื้นฐาน การจัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักการแก้ปัญหาโดยวิธีการจัดการความขัดแย้ง มีการนิเทศติดตามประเมินผลการใช้หลักสูตรการสอนและการจัดการในชั้นเรียน 3. ด้านหลักสูตรจัดทำหลักสูตรการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยบูรณาการในกลุ่มสาระการเรียนรู้
จัดทำโครงการกิจกรรมเสริมหลักสูตร ติดตามประเมินผลการใช้หลักสูตร 4. ด้านโรงเรียนมีการสร้างวัฒนธรรมในโรงเรียน โดยการสร้างความตระหนักและแนวคิดพื้นฐานในการจัดการแก้ปัญหาความขัดแย้ง มีกระบวนการตัดสินใจอย่างมีส่วนร่วม การทำงานเป็นทีม พัฒนาครูและผู้เกี่ยวข้องให้มีภาวะผู้นำ
จัดโครงการให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วม ประสานความร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดนโยบาย วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ การสร้างสันติวัฒนธรรมในสถานศึกษา 5. การสร้างเครือข่าย(ชุมชน
ผู้ปกครอง องค์กรต่าง ๆ โดยการประชาสัมพันธ์ จัดประชุม จัดทำเอกสารเผยแพร่ ทำการอบรม การสร้างทีมสหวิชาชีพ)





วันอาทิตย์ที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

อบรม"หลักสูตรนักเจรจาไกล่เกลี่ย"

เมื่อวันที่ 11-14 ธันวาคม 2550 ผมพร้อมด้วยครูโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ บูรณวิทยา อีก 2 คน
คือ ครูนิคม เรืองกูล และครูรัชนี ค่ายหนองสวง ได้ไปเข้ารับการอบรม"หลักสูตรนักเจรจาไกล่เกลี่ย" ตามโครงการเสริมสร้างสันติวัฒนธรรมในโรงเรียนและพัฒนาศักยภาพบุคลากรในสถานศึกษา
ซึ่งจัดโดยสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
กระทรวงศึกษาธิการ ณ โรงแรมเอส ดี เวนิว กรุงเทพฯ โดยมีวิทยากรผู้บรรยายได้แก่ ศาสตราจารย์
นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์ ผู้อำนวนการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
นายนพพร โพธิรังสิยากร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ และนายโชติช่วง ทัพวงศ์
ผู้พิพากษาอาวุโสศาลภาค 7 ลักษณะการอบรมจะเป็นการบรรยาย การซักถาม การฝึกปฏิบัติจากเหตุการณ์จำลอง และกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ โดยมีเนื้อหาสรุปได้ดังนี้
ไกล่เลี่ย หมายถึง กระบวนการระงับข้อพิพาท ที่มีบุคคลที่สามซึ่งเป็นคนกลาง เข้าช่วยเหลือแนะนำคู่กรณีในการเจรจาต่อรอง การไกล่เกลี่ยเป็นทั้ง ศาสตร์ และ ศิลป์"เป็นศาสตร์" เพราะไกล่เกลี่ยเป็นวิชาการที่มีหลักเกณฑ์ วิธีการ และกระบวนการที่ต้องปฏิบัติ
"เป็นศิลป์" เพราะเป็นการนำเอาความรู้ทางวิชาการมาปฏิบัติ โดยผู้ไกล่เกลี่ยต้องมีเทคนิค และทักษะในการไกล่เกลี่ย
ขั้นตอนการประชุมไกล่เกลี่ย หมายถึง ลำดับขั้นตอนการเจรจาไกล่เกลี่ย และสิ่งซึ่งผู้ไกล่เกลี่ยและคู่กรณีควรปฏิบัติในการเจรจาไกล่เกลี่ย โดยเฉพาะ"ผู้ไกล่เกลี่ย" ต้องเตรียมโดยมีขั้นตอนคือ 1) เตรียมตัว
2) เตรียมคดี 3) เตรียมพบคู่กรณี และเมื่อเข้าสู่ที่ประชุมผู้ไกล่เกลี่ยมีแนวปฏิบัติดังนี้
> เป็นประธานที่ประชุม , เข้าสู่ที่ประชุมเมื่อทุกฝ่ายพร้อม , ชวนพูดคุยเรื่องอื่นก่อน
> สร้างบรรยากาศ ( ให้เป็นกันเอง ไม่เป็นพิธีการ, ให้เหมือนการประชุมปรึกษาหารือเพื่อทำงานร่วมกัน, ให้
มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน
> กล่าวเปิดประชุม ( ทักทายผู้เข้าร่วมประชุมโดยการขอบคุณทุกฝ่ายที่เข้าร่วมประชุม, ให้ทุกคนในที่ประชุมได้รู้จักกันโดย การแนะนำตัวเอง, อธิบายบทบาทของผู้ไกล่เกลี่ยเช่น เป็นคนกลาง มีหน้าที่แก้ปัญหาข้อขัดข้องในการเจรจาต่อรองของคู่กรณี ไม่มีหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาท ค้นหาความพอใจของคู่กรณี
ผ่าทางตัน เสนอทางเลือกเพื่อยุติความขัดแย้ง ช่วยทำข้อตกลงที่เป็นธรรม อธิบายวิธีการและขั้นตอนไกล่เกลี่ย เช่น คู่กรณีต้องสมัครใจให้ไกล่เกลี่ย การไกล่เกลี่ยเป็นสิ่งที่เข้าเสริมการเจรจาต่อรอง ไม่ใช่เข้าไปแทนที่ การไกล่เกลี่ยเป็นความลับ คู่กรณีเป็นผู้ตัดสินใจในผลของการไกล่เกลี่ยโดยมีโอกาสได้เจรจาต่อรองเพื่อให้ได้สิ่งที่ตนเองต้องการด้วยตัวเอง อธิบายวัตถุประสงค์ของการไกล่เกลี่ย เช่น ไกล่เกลี่ยเพื่ออะไร
อธิบายสิ่งที่คู่กรณีต้องปฏิบัติ เช่น กำหนดกรอบเวลาการไกล่เกลี่ยและขอความเห็นชอบการไกล่เกลี่ย
กำหนดกฏเกณฑ์พื้นฐานในการไกล่เกลี่ย เช่น พูดทีละฝ่าย ไม่ขัดกลางคัน ปฏิบัติต่ออีกฝ่ายด้วยความเคารพ )
> ระหว่างประชุมไกล่เกลี่ย ผู้ไกล่เกลี่ยต้องรวบรวมข้อมูลด้วยการรับฟังก่อนโดยการ ให้คู่กรณีมีโอกาสพูดเท่าเทียมกัน ให้ฝ่ายใดพูดก่อนก็ได้ เป็นผู้รับฟังที่ดี แยกไกล่เกลี่ย การแก้ปัญหาการเจรจาต่อรองโดยใช้
แนวทาง Interest-based Mediation คือ แยกอารมณ์ออกจากคน แยกคนออกจากปัญหา เน้นเจรจาที่ผลประโยชน์ไม่ใช่จุดยืน การหาทางออกร่วมกัน สร้างทางเลือกหลาย ๆ ทาง การผ่าทางตัน แล้วจบลงด้วยด้วยผล 2 ประการคือ ตกลงกันได้ และ ตกลงกันไม่ได้ แล้วดำเนินการตามกระบวนไกล่เกลี่ยต่อไป











วันอาทิตย์ที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

การเข้าร่วมประชุมสมัชชาคุณภาพการศึกษา

เมื่อวันที่ 23-24 พฤศจิกายน 2550 ผมพร้อมด้วยครูของโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ บูรณวิทยา
อีก 2 คนได้แก่ คุณครูนิคม เรืองกูล และคุณครูเจตนา ศิริมงคล ได้ไปเข้าร่วมการประชุมสมัชชาคุณภาพการศึกษา ณ อาคารแกรนด์ไดมอนด์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งจัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ มี ศ.ดร.วิจิตร ศรีสะอ้าน รมว.กระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน ลักษณะการจัดประชุม จะจัดการประชุมออกเป็นกลุ่มย่อยทั้งหมด 11 กลุ่มย่อย ในส่วนของข้าพเจ้าได้เข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อยในหัวข้อเรื่อง"การจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีในสถานศึกษา" ซึ่งมีสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ดำเนินการจัดประชุม ณ ห้อง Meeting Room 11 อาคารแกรนด์ไดมอนด์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี สาระการประชุมโดยย่อมีดังนี้
> เด็กในยุคปัจจุบันจะมีปัญหาทางด้านอารมณ์ เช่น ความรู้สึกโดดเดี่ยว ซึมเศร้า มีความโกรธ ความไม่รักษาระเบียบวินัย มีความกระวนกระวายใจ กังวลใจ มีความหุนหันพลันพลันแล่น และก้าวร้าวมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา
> ถ้าเราปล่อยให้การศึกษาทางด้านอารมณ์ให้เป็นไปตามแต่โอกาสจะอำนวย ก็จะทำให้เกิดผลเสียหายที่ใหญ่หลวง
> การแก้ไขพฤติกรรมของนักเรียนในอดีตเมื่อนักเรียนทำความผิด การแก้ไขพฤติกรรมใช้วิธีว่ากล่าวตักเตือน ควบคุมโดยการดุ ตำหนิ ขู่ลงโทษทางกาย( การตี ) ภาคทัณฑ์ หรือสั่งให้ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง
> พฤติกรรมของครูที่นักเรียนไม่ชอบคือ การพูดหยาบคาย ตี หัวเราะเยาะ จุกจิกจู้จี้ ตบหัว ไล่ออกจากห้องเรียน ไม่เก็บความลับของนักเรียน โมโหคนอื่นแล้วมาพาลกับนักเรียน การล้อเลียนให้ได้อาย ไม่ฟังเหตุผลคำอธิบาย ด่าถึงพ่อแม่บรรพบุรุษ พฤติกรรมทางลบของครูเหล่านี้ ยิ่งทำให้นักเรียนเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี กับครู กับการเรียน และกับโรงเรียนด้วย
> เด็กจะทำอะไรได้ดี ก็ต่อเมื่อเขามีความรู้สึกที่ดี
> เด็กที่มีปัญหาเรื่องความประพฤติคือ เด็กที่ไม่ได้รับการกระตุ้นและให้กำลังใจ ดังนั้นการกระตุ้นและให้กำลังใจจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ในการที่จะจัดการกับเด็กที่มีปัญหาเรื่องพฤติกรรม คือ การจัดการด้วยวิธีการเชิงบวก
> ยุทธศาสตร์ในการเสริมพลังทางบวก ถ้าผู้มองมีบวกอยู่ในใจมาก ภาพที่ตนเองมองเห็นก็จะเป็นภาพบวกทั้งเข้มและชัดเจน อันจะทำให้พฤติกรรมทางบวก คือความดีงามถ้าปฏิบัติแล้วให้ผลตอบสนองความต้องการ เกิดความสุข ความพอใจ ตัวเราก็จะรับวิธีการนั้นเป็นค่านิยม และยึดเป็นเกณฑ์ในการประพฤติปฏิบัติต่อไป





อบรมสัมมนาโครงการประชุมวิชาการ"เครือข่ายการวิจัยทางการศึกษา"ระดับจังหวัดราชบุรี

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2550 ผมพร้อมด้วยคณะครูโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ บูรณวิทยาอีกจำนวน 10 คน ได้ไปเข้ารับอบรมสัมมนาการนำเสนอผลงานวิจัยดี มีคุณภาพตามโครงการการประชุม
วิชาการ"เครือข่ายการวิจัยทางการศึกษา" ระดับจังหวัดของจังหวัดราชบุรี ณ อาคารสำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการที่ 6 อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี สรุปผลการอบรมสัมมนาโดยย่อได้ดังนี้
> การศึกษาผลการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนบ้านหนองปรือ ปีการศึกษา 2549 โดยใช้รูปแบบการบริหารคุณภาพที่ใช้โรงเรียนเป็นฐาน (QM MODEL) โดยนางนิตยา ทองประเสริฐ
> การศึกษาการดำเนินการและปัญหาการดำเนินการในระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ตามแนวทางปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเป็นคนเก่ง ดี และมีความสุข ของโรงเรียนปากท่อพิทยาคม จังหวัดราชบุรี โดย
นายรัตน์ชัย ศรสุวรรณ
> ความร่วมมือของเครือข่ายโรงเรียนในการใช้ป่าชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้อย่างยั่งยืน เพื่อจัดการเรียนการ
สอนแก่เด็กปฐมวัย โดยนางสาวปณิตา ศิลารักษ์
> การเรียนรู้วิทยาศาสตร์กับแอนนิเมชั่น กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดย
นายเอกชัย บุญมีพิพิธ
> การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง หน่วยของสิ่งมีชีวิตและชีวิตพืช ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนแคทรายวิทยา โดยนางจูรี่ จินณวัฒน์
> การพัฒนาสื่อการสอนอิเล็กทรอไลเซอร์ เพื่อการเรียนการสอนวิชาเคมี โดยนายคม พิริยวุฒิกรอุดม
> การเปรียบเทียบพัฒนาการความสามารถในการทำโครงงานก่อนและหลังเรียน โดยใช้ชุดกิจกรรมพัฒนาการทำโครงงานภาษาไทย โดยนางชนัญญา ลักษณะวีระ
> การพัฒนาการอ่านและการเขียนของนักเรียนด้วยการใช้สัทอักษรชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดย
นางจินตอาภา ผลบุณยรักษ์
> การพัฒนาการเขียนคำด้วยแบบฝึกเสริมทักษะการเขียนสะกดคำสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนอนุบาลบางแพ โดยนางสาวประทุม นาคนงค์
> การพัฒนาแบบฝึกสะกดคำที่ไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด สาระการเรียนรู้ภาษไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
โรงเรียนประชาพัฒนาวิทย์ โดยนางสาวหทัยรัตน์ อันดึ
> การพัฒนาการเรียนรู้การบวกและลบเลขจำนวนที่มีผลลัพธ์และตัวตั้งไม่เกิน 100,000 ของเด็กพิเศษเรียนร่วม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยนายสุเทพ เกิดผล



วันเสาร์ที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

อบรม"แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีในสถานศึกษา"

เมื่อวันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2550 ผมพร้อมด้วยครูนิคม เรืองกูล และครูรัชนี ค่ายหนองสวง ได้ไปเข้ารับการอบรมตามโครงการเสริมสร้างสันติวัฒนธรรม 80 สถานศึกษา ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมกับสำนักสันติวิธีธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า จัดการอบรมหลักสูตรเรื่อง "แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีในสถานศึกษา" ณ โรงแรมบางกอกกอล์ฟ สปา
รีสอร์ท จังหวัดปทุมธานี โดยมี ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ และคณะเป็นวิทยากรผู้อบรม ผลการอบรมสรุปโดยย่อดังนี้
> การเจรจาไกล่เกลี่ย(Negotiation) คือกระบวนการแก้ปัญหาระหว่างบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปซึ่งสมัครใจมาเจรจา ในเรื่องของความแตกต่างเพื่อพยายามที่จะนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันในประเด็นที่มีความกังวลด้วยกัน
> การเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง(Mediation) คือการเจรจาไกล่เกลี่ยที่อาศัยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เป็นกลาง
> การแก้ปัญหาความขัดแย้ง ควรใช้ความนุ่มนวลหรือ "สันติวิธี"
> การสื่อสารเป็นปัจจัยพื้นฐานในการป้องกันและแก้ปัญหาความขัดแย้ง
> การจัดการความขัดแย้งควรเน้นที่ "กระบวนการ" ต้องวิเคราะห์ ประเมิน และค้นหาวิธีการที่เหมาะสม เพราะ สิ่งที่เราเห็นอาจไม่เป็นอย่างที่เราคิด จึงไม่ควรด่วนสรุป
> การจัดการความขัดแย้ง ต้องสร้างความไว้วางใจระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
> การจัดการและแก้ปัญหาความขัดแย้ง บางครั้งจำเป็นต้องใช้เวลา "อย่ารีบร้อน" ร่วมมือกันทำ
> กฏ กติกา หรือข้อจำกัดในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง อาจเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
ควรหาทางออกร่วมกัน หรือ มองนอกกรอบ
คำคม > "การเปลี่ยนแปลงเป็นวิกฤตสำหรับคนไม่รู้เนื้อรู้ตัว แต่เป็นโอกาสสำหรับคนที่เตรียมตัวไว้แล้ว" "การแก้ปัญหาร่วมกัน แยกคนออกจากปัญหา นุ่มนวลในประเด็นเรื่องของคน แต่แข็งในประเด็นของปัญหา" "An eye for an eye and we all go blind" (ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ผันทุกคนสู่ความพ่ายแพ้)