วันอาทิตย์ที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

อบรม"หลักสูตรนักเจรจาไกล่เกลี่ย"

เมื่อวันที่ 11-14 ธันวาคม 2550 ผมพร้อมด้วยครูโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ บูรณวิทยา อีก 2 คน
คือ ครูนิคม เรืองกูล และครูรัชนี ค่ายหนองสวง ได้ไปเข้ารับการอบรม"หลักสูตรนักเจรจาไกล่เกลี่ย" ตามโครงการเสริมสร้างสันติวัฒนธรรมในโรงเรียนและพัฒนาศักยภาพบุคลากรในสถานศึกษา
ซึ่งจัดโดยสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
กระทรวงศึกษาธิการ ณ โรงแรมเอส ดี เวนิว กรุงเทพฯ โดยมีวิทยากรผู้บรรยายได้แก่ ศาสตราจารย์
นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์ ผู้อำนวนการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
นายนพพร โพธิรังสิยากร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ และนายโชติช่วง ทัพวงศ์
ผู้พิพากษาอาวุโสศาลภาค 7 ลักษณะการอบรมจะเป็นการบรรยาย การซักถาม การฝึกปฏิบัติจากเหตุการณ์จำลอง และกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ โดยมีเนื้อหาสรุปได้ดังนี้
ไกล่เลี่ย หมายถึง กระบวนการระงับข้อพิพาท ที่มีบุคคลที่สามซึ่งเป็นคนกลาง เข้าช่วยเหลือแนะนำคู่กรณีในการเจรจาต่อรอง การไกล่เกลี่ยเป็นทั้ง ศาสตร์ และ ศิลป์"เป็นศาสตร์" เพราะไกล่เกลี่ยเป็นวิชาการที่มีหลักเกณฑ์ วิธีการ และกระบวนการที่ต้องปฏิบัติ
"เป็นศิลป์" เพราะเป็นการนำเอาความรู้ทางวิชาการมาปฏิบัติ โดยผู้ไกล่เกลี่ยต้องมีเทคนิค และทักษะในการไกล่เกลี่ย
ขั้นตอนการประชุมไกล่เกลี่ย หมายถึง ลำดับขั้นตอนการเจรจาไกล่เกลี่ย และสิ่งซึ่งผู้ไกล่เกลี่ยและคู่กรณีควรปฏิบัติในการเจรจาไกล่เกลี่ย โดยเฉพาะ"ผู้ไกล่เกลี่ย" ต้องเตรียมโดยมีขั้นตอนคือ 1) เตรียมตัว
2) เตรียมคดี 3) เตรียมพบคู่กรณี และเมื่อเข้าสู่ที่ประชุมผู้ไกล่เกลี่ยมีแนวปฏิบัติดังนี้
> เป็นประธานที่ประชุม , เข้าสู่ที่ประชุมเมื่อทุกฝ่ายพร้อม , ชวนพูดคุยเรื่องอื่นก่อน
> สร้างบรรยากาศ ( ให้เป็นกันเอง ไม่เป็นพิธีการ, ให้เหมือนการประชุมปรึกษาหารือเพื่อทำงานร่วมกัน, ให้
มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน
> กล่าวเปิดประชุม ( ทักทายผู้เข้าร่วมประชุมโดยการขอบคุณทุกฝ่ายที่เข้าร่วมประชุม, ให้ทุกคนในที่ประชุมได้รู้จักกันโดย การแนะนำตัวเอง, อธิบายบทบาทของผู้ไกล่เกลี่ยเช่น เป็นคนกลาง มีหน้าที่แก้ปัญหาข้อขัดข้องในการเจรจาต่อรองของคู่กรณี ไม่มีหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาท ค้นหาความพอใจของคู่กรณี
ผ่าทางตัน เสนอทางเลือกเพื่อยุติความขัดแย้ง ช่วยทำข้อตกลงที่เป็นธรรม อธิบายวิธีการและขั้นตอนไกล่เกลี่ย เช่น คู่กรณีต้องสมัครใจให้ไกล่เกลี่ย การไกล่เกลี่ยเป็นสิ่งที่เข้าเสริมการเจรจาต่อรอง ไม่ใช่เข้าไปแทนที่ การไกล่เกลี่ยเป็นความลับ คู่กรณีเป็นผู้ตัดสินใจในผลของการไกล่เกลี่ยโดยมีโอกาสได้เจรจาต่อรองเพื่อให้ได้สิ่งที่ตนเองต้องการด้วยตัวเอง อธิบายวัตถุประสงค์ของการไกล่เกลี่ย เช่น ไกล่เกลี่ยเพื่ออะไร
อธิบายสิ่งที่คู่กรณีต้องปฏิบัติ เช่น กำหนดกรอบเวลาการไกล่เกลี่ยและขอความเห็นชอบการไกล่เกลี่ย
กำหนดกฏเกณฑ์พื้นฐานในการไกล่เกลี่ย เช่น พูดทีละฝ่าย ไม่ขัดกลางคัน ปฏิบัติต่ออีกฝ่ายด้วยความเคารพ )
> ระหว่างประชุมไกล่เกลี่ย ผู้ไกล่เกลี่ยต้องรวบรวมข้อมูลด้วยการรับฟังก่อนโดยการ ให้คู่กรณีมีโอกาสพูดเท่าเทียมกัน ให้ฝ่ายใดพูดก่อนก็ได้ เป็นผู้รับฟังที่ดี แยกไกล่เกลี่ย การแก้ปัญหาการเจรจาต่อรองโดยใช้
แนวทาง Interest-based Mediation คือ แยกอารมณ์ออกจากคน แยกคนออกจากปัญหา เน้นเจรจาที่ผลประโยชน์ไม่ใช่จุดยืน การหาทางออกร่วมกัน สร้างทางเลือกหลาย ๆ ทาง การผ่าทางตัน แล้วจบลงด้วยด้วยผล 2 ประการคือ ตกลงกันได้ และ ตกลงกันไม่ได้ แล้วดำเนินการตามกระบวนไกล่เกลี่ยต่อไป











ไม่มีความคิดเห็น: